อังกฤษภายใต้การปกครองของชาวนอร์มัน[1] ของ อังกฤษในสมัยกลางยุครุ่งโรจน์

วิลเลียม ดยุคแห่งนอร์ม็องดี ได้รับการสวมมงกุฎเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1066 ทว่าในตอนแรกตำแหน่งของพระองค์ไม่ค่อยมั่นคงปลอดภัยนัก พระองค์มีคนเพียงหลักพันไว้ควบคุมประชากรราว 2 ล้านคน อีกทั้งพระเจ้าสเวน กษัตริย์แห่งเดนมาร์กเองก็อ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์อังกฤษเช่นกัน ในช่วงแรกชาวนอร์มันเป็นผู้รุกรานที่เป็นที่เกลียดชังและพวกเขาต้องดับความขุ่นเคืองของประชากรชาวแซ็กซัน

วิธีการหนึ่งที่ชาวนอร์มันใช้ควบคุมชาวแซ็กซันคือการสร้างปราสาท พวกเขาเลือกเนินดินที่เรียกว่าม็อตต์ ด้านบนพวกเขาล้อมรั้วไม้ ด้านล่างพวกเขาล้อมรั้วไม้อีกชั้น พื้นที่ภายในถูกเรียกว่าไบลีย์ สิ่งนี้จึงถูกเรียกว่าปราสาทแบบม็อตต์แอนด์ไบลีย์ หรือปราสาทเนิน ไม่นานชาวนอร์มันก็เริ่มสร้างปราสาทหิน ในปี ค.ศ. 1078 วิลเลียมเริ่มสร้างหอคอยลอนดอน

วิลเลียมพำนักอยู่ในนอร์ม็องดีตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1067 เมื่อพระองค์กลับมาอังกฤษ ภารกิจแรกของพระองค์คือปราบการลุกฮือในฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ พระองค์ทำการปิดล้อมเอ็กซิเตอร์ จนเมืองที่ล้อมรอบด้วยกำแพงยอมจำนนอย่างมีเกียรติในที่สุด

แม้อังกฤษตอนใต้จะตกอยู่ภายใต้การควบคุมของชาวนอร์มันแล้ว แต่ตอนกลางกับตอนเหนือนั้นต่างออกไป ในปี ค.ศ. 1068 วิลเลียมเดินทัพขึ้นเหนือผ่านวอริคและน็อตติงแฮมเข้าสู่ยอร์ก ประชาชนของยอร์กยอมสวามิภักดิ์ต่อพระองค์ทันที วิลเลียมจึงกลับไปลอนดอนทางแคมบริดจ์และยอร์ก

ทว่าในเดือนมกราคม ค.ศ. 1069 ประชาชนของยอร์กเชอร์และนอร์ธัมเบอร์แลนด์ก่อกบฏ วิลเลียมรีบขึ้นเหนือไปบดขยี้กลุ่มกบฏ ทว่าการขึ้นเหนือพัดเปลวไฟแห่งการก่อกบฏให้ปะทุขึ้นในพื้นที่อื่น มีการลุกฮือเกิดขึ้นในซอเมอร์เซ็ตและดอร์เซ็ต อีกทั้งชาวแซ็กซันยังเรียกตัวเอ็ดการ์ พระนัดดาชายของพระเจ้าเอ็ดมุนด์ผู้ทนทาน อดีตผู้ปกครองชาวแซ็กซัน มานำกองทัพชาวไอริชไปเดวอนเหนือ ทว่าผู้บัญชาการชาวนอร์มันในพื้นที่บดขยี้การลุกฮือและขับไล่พวกไอริชออกไปได้

ยังไม่จบเพียงเท่านั้น ในฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 1069 พระเจ้าสเวนแห่งเดนมาร์กส่งคนมาสำรวจอังกฤษ เมื่อชาวเดนมาถึงยอร์กเชอร์ ประชาชนของยอร์กเชอร์ลุกขึ้นมาก่อกบฏอีกครั้ง วิลเลียมเดินทัพขึ้นเหนือไปยึดครองยอร์ก ชาวเดนถอนทัพออกจากอังกฤษตอนเหนือ ครั้งนี้วิลเลียมนำเอานโยบายการเผาทำลายผืนดินมาใช้เพื่อไม่ให้เกิดการก่อกบฏขึ้นในตอนเหนืออีก ในปี ค.ศ. 1069 – 1070 คนของพระองค์เผาบ้าน, พืชพรรณธัญญาหาร และเครื่องไม้เครื่องมือ ตั้งแต่ฮัมเบอร์จนถึงเดอแรม พวกเขายังสังหารปศูสัตว์ ความอดอยากที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีหลังจากนั้นทำให้ผู้คนหิวตาย อาชญากรรมที่เลวร้ายนี้ถูกเรียกว่าการทำลายทางเหนือ และต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะฟื้นฟูตอนเหนือของอังกฤษกลับมาได้

ในเวลาเดียวกันชาวเดนล่องเรือลงใต้ไปปล้นปีเตอร์โบโรและยึดเกาะอีลีเป็นฐานที่มั่น ชาวแซ็กซันหลายคนเข้าร่วมกับชาวเดน กบฏแซ็กซันกลุ่มดังกล่าวอยู่ภายใต้การนำของชายที่ชื่อเฮียร์เวิร์ดผู้ตื่นรู้

การเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ทว่าในปี ค.ศ. 1070 พระเจ้าวิลเลียมทำสนธิสัญญากับพระเจ้าสเวน ชาวเดนจึงจากไป ชาวแซ็กซันยังคงต่อสู้ต่อไปในเฟนส์ แต่ในปี ค.ศ. 1071 พวกเขาถูกบีบให้ยอมจำนน เฮียร์เวิร์ดหนีไป วิลเลียมจึงควบคุมอังกฤษทั้งประเทศ

หลังการพิชิตของชาวนอร์มัน ขุนนางชาวแซ็กซันส่วนใหญ่ทิ้งที่ดินของตย วิลเลียมริบที่ดินเหล่านั้นเข้าหลวงและมอบมันให้กับผู้ติดตามของพระองค์ พวกเขาได้ครอบครองดินแดนแลกกับการจัดหาทหารมาให้กษัตริย์

วิลเลียมยังเปลี่ยนศาสนจักรในอังกฤษ ในตอนนั้นศาสนจักรร่ำรวยและมีอำนาจ กษัตริย์จึงจำเป็นต้องมีคนช่วย วิลเลียมแทนที่นักบวชอาวุโสชาวแซ็กซันด้วยกลุ่มคนที่ภักดีต่อพระองค์ แลนฟรังก์ ชาวอิตาเลียน แทนที่สติกุนด์ อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์บรีชาวแซ็กซัน (โดยได้รับการเห็นชอบจากพระสันตะปาปา) แล้วแลนฟรังก์ก็ถอดเหล่าบิชอปและพระอธิการออกเพื่อเอาชาวนอร์มันมาแทนที่

ในชนชั้นล่างลงมาทางสังคมก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเช่นกัน ในช่วงปลายสมัยแซ็กซัน เหล่าชาวนาคือคนที่ไม่มีอิสรภาพ แนวทางนี้ถูกสืบสานต่อโดยชาวนอร์มัน ในทางกลับกันความเป็นทาสนั้นลดลง (และหมดไปในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 12)

ในปี ค.ศ. 1085 วิลเลียมตัดสินใจทำการสำรวจอาณาจักรของตนครั้งใหญ่เพื่อดูตรวจสอบดูว่ามั่งคั่งแค่ไหน เป็นผลให้เกิดหนังสือวันพิพากษา (ดูมสเดย์) ขึ้นในปี ค.ศ. 1086

วิลเลียมสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1087 และพระโอรสที่ชื่อวิลเลียมเช่นกันของพระองค์สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระองค์ (บางครั้งพระองค์ก็ถูกเรียกว่าวิลเลียมรูฟัสเพราะผิวที่เป็นสีแดง) พระเชษฐาของรูฟัส โรเบิร์ต (หรือรอแบต์ตามการออกเสียงแบบฝรั่งเศส) กลายเป็นดยุคแห่งนอร์ม็องดี

วิลเลียมผู้พิชิตเป็นคนโหดเหี้ยม ทว่าผู้เขียนในยุคนั้นกล่าวถึงพระองค์ว่า "เป็นคนรักษากฎหมาย" คริสต์ศตวรรษที่ 11 เป็นยุคที่ไร้กฎหมาย ผู้ปกครองที่แข็งแกร่งที่รักษากฎหมายจึงได้รับการยกย่อง

วิลเลียมรูฟัส

การสิ้นพระชนม์ของวิลเลียมรูฟัส อัลฟองโซ เดอ นูวีลล์ ค.ศ. 1895

รูฟัสไม่ใช้คนที่เคารพในศาสนาและไม่เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่นักบวช นอกจากนี้พวกเขายังวิพากษ์วิจารณ์พระองค์กับข้าราชสำนักของพระองค์ที่ไว้ผมยาว (ในยุคของพระบิดาของพระองค์นิยมไว้ผมสั้น) นักบวชคิดว่าผมยาวนั้นเป็นคุณสมบัติของผู้หญิง

ทว่าในอีกหลายๆ แง่มุมรูฟัสก็เป็นกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถ ภายใต้การปกครองของพระองค์ เหล่าบารอนตกที่นั่งลำบากเนื่องจากส่วนใหญ่มีที่ดินทั้งในนอร์ม็องดีและในอังกฤษ หลายคนอยากให้ทั้งสองฝั่งอยู่ใต้การปกครองของคนๆ เดียว ในปี ค.ศ. 1080 จึงมีการก่อกบฏเกิดขึ้นในอังกฤษตะวันออก กลุ่มกบฏอยากปลดรูฟัสออกจากตำแหน่งและให้พระเชษฐาของพระองค์ โรเบิร์ต ปกครองทั้งอังกฤษและนอร์ม็องดี ทว่ารูฟัสบดขยี้กลุ่มกบฏได้ การก่อกบฏครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1095 ก็ถูกบดขยี้เช่นกัน

ในเวลาเดียวกัน รูฟัสยึดพื้นที่ที่ตอนนี้ถูกเรียกว่าคัมเบรียมาจากชาวสกอต (ก่อนหน้าพระองค์จะขึ้นครองราชย์ พื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสกอตแลนด์) รูฟัสยังบีบกษัตริย์สกอตให้ยอมรับพระองค์เป็นเจ้าเหนือหัวตามระบอบศักดินา

วิลเลียมรูฟัสถูกยิงด้วยลูกธนูขณะกำลังล่าสัตว์อยู่ในนิวฟอเรสต์ ไม่มีใครรู้ว่ามันเป็นอุบัติเหตุหรือการฆาตกรรม (ซึ่งดูน่าจะเป็นอย่างหลังมากกว่า)

ใกล้เคียง

อังกฤษในสมัยกลางยุครุ่งโรจน์ อังกฤษสมัยแองโกล-แซกซัน อังกฤษสมัยแองโกล-นอร์มัน อังกฤษ อังกฤษ (แก้ความกำกวม) อังกฤษอเมริกัน อังกฤษสมัยสจวต อังกฤษดั้งเดิม อังกฤษก่อนประวัติศาสตร์ อังกฤษอิงแลนด์